หญ้าแฝก


    หญ้าแฝก เป็นพืชตระกูลหญ้าที่พบอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆของประเทศ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ความเปียกแฉะและสภาพน้ำท่วมขังได้ดี เพราะมีระบบรากลึกและใบแคบที่มีชื่อว่า Vetiveria spp. หญ้าแฝกขึ้นเป็นกอใหญ่ ขนาดของกอประมาณ 5 - 20 เซนติเมตร มีความสูงของลำต้นประมาณ 1 - 1.5 เมตรใบแคบยาวประมาณ 75 เซนติเมตร กว้าง 4 - 10 มิลลิเมตร มีรากเป็นกระจุกเหมือนใยฟองน้ำ สามารถดูดซับน้ำได้ดี ถ้านำมาปลูกเป็นแถวจะช่วยในการดักตะกอนดินและป้องกันการพังทลายของดินได้ดี

    จากการสำรวจพบว่า หญ้าแฝกมีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และพบในประเทศไทย 2 ชนิด คือ 

      1.หญ้าแฝกลุ่ม
    มีถิ่นกำเนิดทางตอนกลางของทวีปเอเชียสันนิษฐานว่าอยู่ในประเทศอินเดีย พบในพื้นที่ลุ่ม มีความชื้นสูงหรือมีน้ำขัง
    ลักษณะกอเป็นพุ่ม สูงเต็มที่ประมาณ 150 - 200 เซนติเมตร ใบยาวตั้งตรงสูงขึ้นสีเขียวเข้มมีไขเคลือบทำให้ดูมัน ใบอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ช่อดอกสีอมม่วง รากมีความหอมเย็น และหยั่งลึกลงดินได้ตั้งแต่ 100 - 300 เซนติเมตร เป็นสมุนไพรใช้ทำน้ำมั้นหอม สบู่ และใช้กันแมลงในตู้เสื้อผ้า ฯลฯ
    พันธุ์ที่กรมพัฒนาที่ดินส่งเสริม ได้แก่ สุราษฎร์ธานีสงขลา3 กำแพงเพชร2 ศรีลังกา และพระราชทาน เป็นต้น

      2.หญ้าแฝกดอน
    มีถิ่นกำเนิดทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย ลาว เขมร เวียดนาม พบได้ทั่วไปในที่ค่อนข้างแล้ง
    ลักษณะกอเป็นพุ่มสูงเต็มที่ประมาณ 100 - 150 เซนติเมตรปลายใบจะโค้งลงคล้ายกอตะไคร้ใบสีเขียว ซีด เนื้อใบหยาบ ดูกร้านไม่เหลือบมัน ชาวพื้นบ้านใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา ช่อดอกสีขาวครีม สีม่วง รากไม่มีความหอมและสั้นกว่าหญ้าแฝกลุ่มโดยหยั่งลึกลงในดินประมาณ 80 - 100 เซนติเมตร
    พันธุ์ที่กรมพัฒนาที่ดินส่งเสริม ได้แก่ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร1 นครสวรรค์ และ เลย เป็นต้น 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลักษณะของหญ้าแฝก

รางวัลเทิดพระเกียรติ

แนวทางพระราชดำริเกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ